คำเทศนา อาทิตย์ที่ 4 ก.ค. 10 (รอบเช้า) -1- โดย ศจ.นิรุทธิ์ จันทร์ก้อน
เรื่อง “อัครทูตของพระเจ้า” จาก “1คร.4:1-21” เน้นข้อ 9
ทุกสถาบันในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว บริษัท กองทัพ ศาสนจักรหรือคริสตจักร ต้องมี “ผู้นำ” ต้องการ “ผู้นำ”เพราะผู้นำ เป็นตัวกำหนดความเจริญหรือความเสื่อมของสถาบันนั้นๆ
ผู้นำก็เหมือนส่วนหัวของร่างกาย ถ้าหัวดี มีสติปัญญา ร่างกายนั้นก็เจริญก้าวหน้า มีอนาคต สถาบันใด ครอบครัวใดได้ผู้นำดี สถาบันนั้นก็มีอนาคต มีความเจริญ และมีความก้าวหน้า
สถาบันของพระเจ้าหรือคริสตจักรของพระเจ้าก็จำเป็นต้องมีผู้นำ และสุดยอดผู้นำในงานของพระเจ้า คือ “อัครทูต”
อัครทูต เป็นของประทานจากพระองค์ ไม่ใช่เป็นตำแหน่งที่จะสืบทอดกันได้ ไม่ใช่ทุกคนจะเป็นได้ และจะเป็นได้ไม่ใช่ด้วยมนุษย์ตั้งขึ้น แต่ผู้ที่จะเป็นอัครทูตได้ ต้องเป็นผู้ที่พระเจ้าตั้งขึ้นเท่านั้น เราสามารถ “เรียน” เรื่องอัครทูตได้ แต่เราจะ “เป็น” ได้หรือไม่นั้นขึ้นกับพระเจ้าเท่านั้น
1คร.4:9 เพราะข้าพเจ้าเห็นว่า พระเจ้าได้ทรงตั้งเราผู้เป็นอัครทูตไว้ในที่สุด เหมือนผู้ที่ได้ถูกปรับโทษให้ถึงตาย เพราะว่าจักรวาลคือทั้งทูตสวรรค์และมนุษย์ มองดูเราด้วยความพิศวง
เปาโลกล่าวว่า “พระเจ้าได้ทรงตั้งท่านเป็นอัครทูต” เปาโลไม่ได้มีความปรารถนาจะเป็นอัครทูต แต่พระเจ้าทรงตั้งให้ท่านเป็นอัครทูตของพระองค์
1. อัครทูตของพระเจ้า เป็นผู้นำที่พระเจ้าประทานให้คริสตจักรในโลกนี้
มก.3:13-19 แล้วพระองค์เสด็จขึ้นภูเขา และพอพระทัยจะเรียกผู้ใดพระองค์ก็ทรงเรียกผู้นั้น แล้วเขาได้มาหาพระองค์ พระองค์จึงทรงตั้งศิษย์สิบสองคนไว้ให้อยู่กับพระองค์ เพื่อจะทรงใช้เขาไปประกาศ และให้มีอำนาจขับผีออกได้ และซีโมนนั้นพระองค์ทรงประทานชื่ออีกว่า เปโตร และยากอบบุตรเศเบดีกับยอห์นน้องของยากอบ ทั้งสองคนนี้พระองค์ทรงประทานชื่ออีกว่า โบอาเนอเย แปลว่า ลูกฟ้าร้อง อันดรูว์ ฟีลิป บารโธโลมิว มัทธิว โธมัส ยากอบบุตรอัลเฟอัส ธัดเดอัส ซีโมน พรรคชาตินิยม และยูดาสอิสคาริโอท ที่ได้อายัดพระองค์ไว้นั้นพระองค์จึงเสด็จเข้าไปในเรือน
การตั้งอัครทูต ถือเป็นพระราชอำนาจของพระเจ้า พระองค์พอพระทัยที่จะเรียกผู้ใด พระองค์ก็ทรงเรียกผู้นั้น
เวลานั้นมีสาวกจำนวนมากมาย แต่หลังจากที่ได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันระยะหนึ่ง พระองค์เลือกอัครทูตแค่ 12 คน
พระเจ้าทรงรู้ดีว่าใครเหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ใด และเราต้องยอมรับสิทธิอำนาจของพระองค์ด้วย
กจ.9:15 ฝ่ายองค์พระผู้เป็นเจ้าได้ตรัสกับท่านว่า "จงไปเถิด เพราะว่าคนนั้นเป็นภาชนะที่เราได้เลือกสรรไว้ สำหรับจะนำนามของเราไปยังประชาชาติ กษัตริย์และพวกอิสราเอล
หลังจากพระเยซูเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ หลังจากอัครทูตยุคแรกได้รับการเลือกสรรแล้ว
พระเจ้าทรงเลือก “เปาโล” ให้เป็นอัครทูตของพระองค์ พระวจนะใช้คำว่า “คนนั้นเป็นภาชนะที่เราได้เลือกสรรไว้”
คนนั้น หมายถึง เปาโล และพระเจ้าทรงเลือกสรรให้ท่านเป็นอัครทูตเพื่อที่จะนำข่าวประเสริฐไปยังคน 3 กลุ่ม
คือ (1) ประชาชาติ (2) กษัตริย์ (3) อิสราเอล
พันธกิจที่เปาโลได้รับจากพระเจ้านั้นยิ่งใหญ่มาก แม้ท่านเปโตรก็ทำไม่ได้
เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับคุณค่าและความสำคัญของความเป็นมนุษย์ แต่เกี่ยวกับบทบาที่พระเจ้าประทานให้
เปโตร พระเจ้าตั้งให้เป็นอัครทูตที่ประกาศกับยิวหรืออิสราเอล
แต่เปาโล พระเจ้าตั้งให้เป็นอัครทูตที่ประกาศกับคนทั้งโลก ไม่ใช่ใครจะเป็นก็เป็นได้ แต่พระเจ้าต้องให้เป็นเท่านั้น
อฟ.4:11-16 ของประทานของพระองค์ ก็คือให้บางคนเป็นอัครทูต บางคนเป็นผู้เผยพระวจนะ บางคนเป็นผู้เผยแพร่ข่าว
คำเทศนา อาทิตย์ที่ 4 ก.ค. 10 (รอบเช้า) -2- โดย ศจ.นิรุทธิ์ จันทร์ก้อน
ประเสริฐ บางคนเป็นศิษยาภิบาลและอาจารย์ เพื่อเตรียมธรรมิกชนให้เป็นคนที่จะรับใช้ เพื่อเสริมสร้างพระกายของพระคริสต์
ให้จำเริญขึ้น จนกว่าเราทุกคนจะบรรลุถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในความเชื่อ และในความรู้ถึงพระบุตรของพระเจ้า จนกว่า
เราจะโตเป็นผู้ใหญ่เต็มที่ คือเต็มถึงขนาดความไพบูลย์ของพระคริสต์ เพื่อเราจะไม่เป็นเด็กอีกต่อไป ถูกซัดไปซัดมาและหันไปเหมาด้วยลมปากแห่งคำสั่งสอนทุกอย่าง และด้วยเล่ห์กลของมนุษย์ตามอุบายฉลาดอันเป็นการล่อลวง แต่ให้เรายึดความจริงด้วยใจรัก เพื่อจะจำเริญขึ้นทุกอย่างสู่พระองค์ผู้เป็นศีรษะ คือพระคริสต์ คือเนื่องจากพระองค์นั้น ร่างกายทั้งสิ้นที่ติดต่อสนิทและประสานกันโดยทุกๆข้อต่อ ที่ทรงประทานได้จำเริญเติบโตขึ้นด้วยความรัก เมื่ออวัยวะทุกอย่างทำงานตามความเหมาะสมแล้ว
พระวจนะตอนนี้ทำให้เราเห็นชัดเจนว่า “อัครทูต” เป็นของประทานจากพระเจ้า
ของประทานของพระเจ้า คือ ให้ “บางคน” เป็น ... ใครจะเป็นได้หรือไม่ขึ้นกับพระเจ้ากำหนด
อัครทูต ถือเป็นกำหนดจากสวรรค์ เป็นลิขิตจากสวรรค์ ไม่มีใครสามารถขัดขวางได้
“โชค” เป็นสิ่งที่มนุษย์สามารถไขว่คว้าได้ แต่ “ชะตา” ของมนุษย์ต้องเป็นไปตามที่พระเจ้าลิขิตเท่านั้น
พระวจนะตอนนี้ เราจะเป็นถึงขุนพลในงานพระเจ้า 5 ตำแหน่ง ดังนี้
(1) อัครทูต (เป็นตำแหน่งที่สูงสุดในสมัยพันธสัญญาใหม่ ในสมัยปัจจุบัน)
(2) ผู้เผยพระวจนะ (ในสมัยพันธสัญญาเดิม ในอดีตตำแหน่งนี้สำคัญที่สุด)
(3) ผู้เผยแพร่ข่าวประเสริฐ (เช่น นักเทศน์ฟื้นฟู)
(4) ศิษยาภิบาล (ผู้ที่ทำหน้าที่อภิบาลศิษย์)
(5) อาจารย์ (บางคนเก่งเรื่องการสอน แต่ต้องเอาข้อมูลจากผู้อื่นมาสอนอีกที อย่างนี้ไม่ได้เรียกอาจารย์ ภาษาอังกฤษใช้คำว่า teaching แต่คนที่มีของประทานเป็นอาจารย์ จะสามารถคิดคำสอนเตรียมสอนด้วยตัวเองได้ เราเรียกว่า teacher)
2. พันธกิจอัครทูต จาก อฟ.4:11-16
พระวจนะใน อฟ.4:11-16 ไม่เพียงแต่ทำให้เราเห็นว่าอัครทูตเป็นของประทานจากพระเจ้าเท่านั้น
แต่พระวจนะยังให้ภาพพันธกิจของอัครทูตไว้ด้วย ดังนี้
2.1 เตรียมธรรมิกชน
อฟ.4:12 เพื่อเตรียมธรรมิกชน
พระเจ้าทรงประทานอัครทูต ก็เพื่อให้เขาทำหน้าที่ในการเตรียมธรรมิกชนของพระเจ้า
การเตรียมธรรมิกชน ก็เหมือนกับการเตรียมแพทย์ กว่าจะเป็นแพทย์ได้ต้องมีการเตรียมตัวเป็นแพทย์ก่อน
การเตรียมธรรมิกชน ก็เหมือนการเตรียมตัวสร้างบ้าน สร้างตึก ต้องรู้ว่าต้องเตรียมอะไร อย่างไร เท่าใด
การเตรียมแพทย์ ถ้าไม่ใช่แพทย์ ก็เตรียมไม่ได้ การเตรียมสร้างตึก ถ้าไม่ใช่วิศวกร ก็ไม่เตรียมไม่ได้
การเตรียมธรรมิกชนก็เช่นกัน คนธรรมดาไม่รู้ว่าจะต้องเตรียมอย่างไร แต่อัครทูตรู้ว่าต้องเตรียมอย่างไร
อัครทูตเป็นตำแหน่งผู้นำสูงสุด สามารถนำทุกคนได้
2.2 เตรียมให้เป็นผู้นำและผู้รับใช้
อฟ.4:12 เพื่อเตรียมธรรมิกชนให้เป็นคนที่จะรับใช้
สุดยอดผู้นำ คือ ผู้ที่เป็นผู้รับใช้ ผู้ที่เป็นเจ้านายส่วนใหญ่มักนั่งอยู่บนหัวคน แต่ผู้ที่เป็นผู้รับใช้จะนั่งอยู่ในใจคน
ดังนั้น การเตรียมคนให้รับใช้ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย คนจะตามใคร เขาต้องมั่นใจว่าคนนั้นนำเขาได้
และเราจะตามใคร ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเงิน หรืออำนาจ แต่เพราะอิทธิพลชีวิต
2.3 เตรียมคน สร้างคนให้คริสตจักรเจริญขึ้น
อฟ.4:12 เพื่อเสริมสร้างพระกายของพระคริสต์ให้จำเริญขึ้น
ผู้นำที่ดีจะพาทีมงานทุกคนไปแตะเส้นชัยด้วยกัน คนเร็วก็แตะเส้นชัยได้ก่อน
แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ทิ้งคนที่ช้า แม้จะถึงเส้นชัยช้า แต่ผู้นำก็ต้องนำทุกคนไปแตะเส้นชัยได้เหมือนกัน
คำเทศนา อาทิตย์ที่ 4 ก.ค. 10 (รอบเช้า) -3- โดย ศจ.นิรุทธิ์ จันทร์ก้อน
อัครทูต จึงเป็นงานสูงสุดของผู้รับใช้พระเจ้า
2.4 เตรียมคนให้เจริญจนกระทั่งเป็นเอกภาพ มีความหลากหลายแต่เป็นหนึ่ง
อฟ.4:13 จนกว่าเราทุกคนจะบรรลุถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในความเชื่อ
อัครทูตจะต้องนำทุกคนให้เป็นหนึ่งเดียวกัน มีความเป็นเอกภาพท่ามกลางความหลากหลาย
ทุกคนมีคุณค่า ทุกคนสำคัญ แต่ทุกคนแตกต่างกัน ... ทำอย่างไรที่ความแตกต่างจะกลายเป็นความกลมกลืน
นี่คือพันธกิจของอัครทูต
2.5 เตรียมให้ทุกคนเติบโตจนถึงความไพบูลย์ของพระคริสต์
อฟ.4:13-14 จนกว่าเราจะโตเป็นผู้ใหญ่เต็มที่ คือเต็มถึงขนาดความไพบูลย์ของพระคริสต์เพื่อเราจะไม่เป็นเด็กอีกต่อไป ถูกซัดไปซัดมาและหันไปเหมาด้วยลมปากแห่งคำสั่งสอนทุกอย่าง และด้วยเล่ห์กลของมนุษย์ตามอุบายฉลาดอันเป็นการล่อลวง
เติบโตจนถึงความไพบูลย์ของพระคริสต์ คือ มีความมั่นคง เป็นผู้ใหญ่ไม่ใช่เด็ก
ไม่ถูกซัดไป เซมา เพราะคำพูดของคนหรือเพราะคำสอนที่ผิดๆ
2.6 เตรียมจนทุกอย่างเจริญขึ้นด้วยความรัก
อฟ.4:15 แต่ให้เรายึดความจริงด้วยใจรัก เพื่อจะจำเริญขึ้นทุกอย่างสู่พระองค์ผู้เป็นศีรษะ คือพระคริสต์
อัครทูตต้องนำให้ทุกคนเติบโตและเจริญขึ้นด้วยความรัก ไม่ใช่ความเย่อหยิ่ง ยโส
บางคนโตแล้วชอบเหยียบคนอื่น แต่ถ้าเราเติบโตด้วยความรักอย่างแท้จริง เราจะไม่โตบนความตายของคนอื่น
ไม่พูดให้ร้าย ไม่ว่าจะเป็นใครหรือคริสตจักรใดก็ตาม
2.7 เตรียมทำทุกสิ่งเพื่อคริสตจักร เพื่อถวายเกียรติพระเจ้า ไม่ใช่แสวงหาเกียรติเพื่อตัวเอง
อฟ.4:16 คือเนื่องจากพระองค์นั้น ร่างกายทั้งสิ้นที่ติดต่อสนิทและประสานกันโดยทุกๆข้อต่อ ที่ทรงประทานได้จำเริญเติบโตขึ้นด้วยความรัก เมื่ออวัยวะทุกอย่างทำงานตามความเหมาะสมแล้ว
ทั้ง 7 ประการนี้เป็นส่วนหนึ่งของพันธกิจอัครทูตที่ปรากฏอยู่ในพระวจนะ อฟ.4:11-16
ทำให้เราได้รู้ถึงหน้าที่และความรับผิดชอบที่หนักมากของผู้ที่พระเจ้าตั้งเป็นอัครทูตของพระองค์
คนที่จะทำหน้าที่นี้สำเร็จได้ ต้องเป็นคนที่พระเจ้าเลือกสรรเท่านั้น
3. พันธกิจของอัครทูต จาก 1คร.4:9, 1-21
พระวจนะตอนนี้ เป็นพันธกิจหลักที่เปาโลได้รับจากพระเจ้า เมื่อท่านได้รับการตั้งให้เป็นอัครทูตของพระองค์
ใครที่คิดว่าพระองค์เรียกตัวเองให้เป็นอัครทูตของพระเจ้า ต้องพิจารณาดูว่าท่านมีคุณสมบัติดังที่เปาโลกล่าวไว้หรือไม่
3.1 ต้องอยู่และพร้อมตายเพื่ออาณาจักรของพระเจ้า
1คร.4:9 เพราะข้าพเจ้าเห็นว่า พระเจ้าได้ทรงตั้งเราผู้เป็นอัครทูตไว้ในที่สุด เหมือนผู้ที่ได้ถูกปรับโทษให้ถึงตาย เพราะว่าจักรวาลคือทั้งทูตสวรรค์และมนุษย์ มองดูเราด้วยความพิศวง
พันธกิจของผู้เป็นอัครทูตนั้น ถ้ามีชีวิตอยู่ ก็จะต้องอยู่เพื่ออาณาจักรของพระเจ้า
อยู่เพื่อคริสตจักร อยู่เพื่อคนของพระเจ้า อยู่เพื่อคนในโลกใบนี้จะรับความรอด
และผู้ที่เป็นอัครทูตนั้น ถ้าจะต้องตายก็พร้อมตายเพื่องานของพระเจ้า
ไม่ทิ้งงานแม้ต้องเผชิญความยากลำบาก ไม่ทิ้งงานแม้ไม่มีตำแหน่งหรือเงินสนับสนุน
ที่จริงแล้วอัครทูต ก็ทำหน้าที่ไม่ต่างพ่อแม่ที่ต้องดูแลลูกตลอดชีวิต
ดูแลลูกฝ่ายวิญญาณด้วยชีวิต แม้เหนื่อย แม้หนักก็ยังทำ
บางครั้งอัครทูตก็ต้องยอมโง่ ยอมหูหนวก ยอมตาบอด เพื่อให้งานโต
ถูกบ่น ถูกด่า ถูกนินทา ไม่ใช่ไม่รู้ แต่จะไม่ยอมให้สิ่งเล็กน้อยมาขัดขวางงานใหญ่
คำเทศนา อาทิตย์ที่ 4 ก.ค. 10 (รอบเช้า) -4- โดย ศจ.นิรุทธิ์ จันทร์ก้อน
เปาโลใช้คำว่า แม้แต่ทูตสวรรค์หรือมนุษย์ด้วยกันยังงงว่าทำได้อย่างไร ... ที่ทำได้ ทนได้ ก็เพราะพระเจ้า
ดังนั้น คริสตจักรใดที่มีอัครทูตในคริสตจักรๆ นั้นจะเจริญเป็นพิเศษ
ไม่ใช่เพราะเขาเป็นมนุษย์พิเศษ แต่เพราะเป็นของประทานที่พระเจ้าประทานให้
คุณค่าของคนทำงานนั้นเหมือนกัน แต่แตกต่างตามความรับผิดชอบที่พระเจ้าประทานให้
ที่พระเจ้าให้อัครทูตมากกว่าผู้รับใช้คนอื่นๆ ก็เพราะงานและหน้าที่ความรับผิดชอบท่านสูงกว่าผู้อื่น
สิ่งที่จะสามารถบ่งบอกความเป็นอัครทูตได้ นั่นคือ ผลงาน
1คร.9:1-2 ข้าพเจ้าไม่มีเสรีภาพหรือ ข้าพเจ้ามิได้เป็นอัครทูตหรือ ข้าพเจ้ามิได้เห็นพระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้าของเราหรือ ท่านทั้งหลายมิได้เป็นผลงานของข้าพเจ้าในองค์พระผู้เป็นเจ้าหรือถ้าข้าพเจ้ามิได้เป็นอัครทูตในสายตาของคนอื่น ข้าพเจ้าก็ต้องเป็นอัครทูตในสายตาของท่าน เพราะพวกท่านคือตราตำแหน่งอัครทูตของข้าพเจ้าในองค์พระผู้เป็นเจ้า
เปาโล ทำงานจากเลขศูนย์ คือ จากไม่มีอะไรเลย แต่บุกเบิกให้เกิดและมีขึ้นได้ นี่คือ อัครทูต
ผู้ที่รับช่วงต่อ รับงานต่อ ทำจากสิ่งที่มีอยู่แล้ว ไม่ได้ถือเป็นอัครทูตแต่อย่างใด
3.2 เป็นผู้สัตย์ซื่อและเป็นผู้ที่พระเจ้าและคริสตจักรไว้ใจได้
1คร.4:1-2 ให้ทุกคนถือว่าเราเป็นคนรับใช้ของพระคริสต์ และเป็นผู้อารักขาสิ่งล้ำลึกของพระเจ้า ฝ่ายผู้อารักขาเหล่านั้นต้องเป็นคนที่ไว้วางใจได้ทุกคน
สัตย์ซื่อในที่นี้ คือ สัตย์ซื่อในการทรงเรียกของพระเจ้า
พระเจ้าไม่ได้ใช้ทุกคน ใครที่พระเจ้าใช้ ถือเป็นสิทธิพิเศษ ถ้าเราไม่เห็นคุณค่า พระเจ้าจะผ่านเราไปใช้ผู้อื่นแทน
ดังนั้น ผู้ที่เป็นอัครทูตแท้ จะมุ่งมั่นในการทำงานตามที่รับมอบหมายจนสำเร็จ
งานไม่เสร็จไม่เลิกรา และไม่ได้มุ่งหวังลาภยศ เกียรติหรือสรรเสริญ แต่หวังให้งานสำเร็จตามรับมอบหมายเท่านั้น
3.3 เป็นผู้ให้กำเนิดคริสตจักร
1คร.4:15 เพราะในพระคริสต์ถึงแม้ท่านมีผู้ควบคุมสักหมื่นคน แต่ท่านก็มีบิดาแต่คนเดียว เพราะว่าในพระเยซูคริสต์ ข้าพเจ้าได้ให้กำเนิดแก่ท่านโดยข่าวประเสริฐ
พันธกิจของอัครทูต คือ ตั้งคริสตจักร ให้กำเนิดคริสตจักร ไม่ใช่ผู้รับช่วงต่อ แต่ทำจากไม่มีให้มีขึ้น
คนที่เป็นอัครทูตตัวจริงจะไม่โอ้อวดว่าเขาเป็น แต่ให้ผลงานเป็นเครื่องพิสูจน์ (พวกที่ชอบโอ้อวด ส่วนใหญ่เป็นของปลอม)
ผู้ให้กำเนิดคริสตจักร ก็เหมือนพ่อแม่ให้กำเนิดลูก ตอนมีชีวิตอยู่ก็หาให้ลูก ตอนตายสิ่งที่มีอยู่ก็ยกให้ลูก
นี่คือหัวใจของพ่อแม่ฝ่ายวิญญาณ หัวใจของอัครทูต
3.4 สร้างทีม สร้างทายาท เพื่อเสริมสร้างให้คริสตจักรแข็งแรง
1คร.4:17 เพราะเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงได้ใช้ทิโมธีลูกที่รักของข้าพเจ้า ซึ่งเป็นคนสัตย์ซื่อในองค์พระผู้เป็นเจ้าให้มาหาท่าน เพื่อนำท่านให้ระลึกถึงแบบการประพฤติของข้าพเจ้าในพระคริสต์ ตามที่ข้าพเจ้าสอนอยู่ในคริสตจักรทั่วๆ ไป
พันธกิจของผู้นำ คือ สร้างผู้นำ ... เปาโล สร้างทีม สร้างทายาทให้กับคริสตจักร คือ ทิโมธี
แต่กว่าทิโมธี จะเป็นทีมงานและเป็นทายาทฝ่ายวิญญาณของเปาโลได้
ต้องใช้ขบวนการเลี้ยง สร้าง สอน พาออกทำงานเป็นเวลานาน
เครื่องหมายของการเป็นผู้นำ คือ การสร้างผู้นำ และมีผู้ตาม อัครทูตเท่านั้นจึงจะทำได้
3.5 ทำหน้าที่เผยพระวจนะและพึ่งพาฤทธิ์เดชของพระเจ้า
1คร.4:20 เพราะว่าแผ่นดินของพระเจ้ามิใช่เรื่องของคำพูด แต่เป็นเรื่องฤทธิ์เดช
ผู้ที่เป็นอัครทูต จะรับหน้าที่ในการเผยพระวจนะของพระเจ้า เผย คือ เปิดให้เห็นรายละเอียดที่ซ่อนอยู่
พระวจนะของพระเจ้าไม่ได้เรียงเป็นหมวดหมู่ ทุกจุด ทุกขีด ทุกคำ ต้องมีการเผยจากผู้รับใช้จึงจะเข้าใจได้
ผู้รับใช้จะเผยได้ ต้องอาศัยพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นผู้ทรงนำ
คำเทศนา อาทิตย์ที่ 4 ก.ค. 10 (รอบเช้า) -5- โดย ศจ.นิรุทธิ์ จันทร์ก้อน
คำเทศนาไม่ใช่คำพูดของมนุษย์ แต่เป็นฤทธิ์เดชของพระเจ้า นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงชีวิตคน
ก. ฤทธิ์เดชเปลี่ยนชีวิต หายตัวไม่ได้ แต่หายโรค หายโง่ หายหยิ่ง หายกลัวได้
ฤทธิ์เดชของพระเจ้ามีเสมอ แต่พระเจ้าจะไม่สำแดงให้กับคนที่แสวงหาฤทธิ์เดชเท่านั้น
สิ่งที่เราควรแสวงหา คือ การเปลี่ยนชีวิตใหม่ และสิ่งนั้นพระเจ้าทำได้ผ่านฤทธิ์เดชของพระองค์
พระวจนะของพระเจ้าสนับสนุนให้เราแสวงหาชีวิตใหม่ ไม่ใช่แสวงหาฤทธิ์เดช
ข. ฤทธิ์เดช ทำให้คนเป็นประโยชน์ เป็นปราชญ์ เป็นพระฉายพระเจ้า
กจ.4:13 เมื่อเขาเห็นความกล้าหาญของเปโตรกับยอห์น และรู้ว่าท่านทั้งสองขาดการศึกษาและเป็นคนสามัญ ก็ประหลาดใจ แล้วสำนึกว่าคนทั้งสองเคยอยู่กับพระเยซู
พระเจ้าเปลี่ยนชีวิตของชาวประมง คนธรรมดาสามัญ ให้กลายเป็นคนสามารถพูดคุยกับนักปราชญ์ คนมีการศึกษาได้
ชีวิตเขาเปลี่ยนได้ด้วยถ้อยคำและพระวจนะของพระเจ้า
สดด.119:98-100 พระบัญญัติของพระองค์ กระทำให้ข้าพระองค์ฉลาดกว่าศัตรูของข้าพระองค์ เพราะพระบัญญัตินั้นอยู่กับข้าพระ องค์เสมอ ข้าพระองค์มีความเข้าใจมากกว่าบรรดาครูของข้าพระองค์เพราะบรรดาพระโอวาทของพระองค์เป็นคำภาวนาของข้า พระองค์ ข้าพระองค์เข้าใจมากกว่าคนสูงอายุ เพราะข้าพระองค์รักษาข้อบังคับของพระองค์
พระวจนะทำให้เราเข้าใจชีวิตมากขึ้น พระวจนะสร้างคนให้อยู่เหนือปัญหา
พระวจนะทำให้เราตระหนักว่า ทุกคนเกิดมาพร้อมกับความเป็นพิเศษ สำคัญที่เราต้องค้นหาให้เจอว่าเราถูกสร้างเป็นอะไร
กจ.6:3 เหตุฉะนั้นพี่น้องทั้งหลายจงเลือกเจ็ดคนในพวกท่าน ที่มีชื่อเสียงดีประกอบด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์และสติปัญญา เราจะตั้งเขาให้ดูแลการงานนี้
การมีชีวิตอยู่ในทางของพระเจ้า ยิ่งอยู่นาน เราจะยิ่งกลายเป็นคนดีมีธัมมะมากขึ้น มีสติปัญญามากขึ้น
3.6 สร้างวินัยแก่คริสตจักร
1คร.4:21 ท่านจะเอาอย่างไรจะให้ข้าพเจ้าถือไม้เรียวมาหาท่านหรือจะให้ข้าพเจ้ามาด้วยความรักและด้วยใจอ่อนสุภาพ
เปาโล ใช้คำพูดกับลูกฝ่ายวิญญาณของท่านที่เมืองโครินธ์ว่า “ท่านจะเอาอย่างไร?”
เปาโล สามารถพูดได้ เพราะท่านเป็นผู้ให้กำเนิด ท่านให้การปกป้อง ท่านจึงมีสิทธิ์ที่จะปกครองพวกเขา
การปกครองของเปาโล ก็ใช้รูปแบบเดียวกับที่พระเจ้าทรงปกครองเรา
เมื่อพระเจ้าจะสร้างเรา พระองค์จะเริ่มต้นที่การสอนก่อน สอนเพื่อสร้างเรา
ถ้าเราดื้อ พระเจ้าก็จะเตือนเรา ผ่านพระวจนะ ผ่านคำเทศนา ผ่านเหตุการณ์ต่างๆ
แต่ถ้าเตือนแล้วเรายังดื้อต่อไป ไม่ฟังพระเจ้า พระองค์ก็จะตีสอนเรา
เริ่มต้นจากตีเบา จนไปถึงตีหนัก ... แต่อย่าเผลอไปตัดสินว่าใครรับการตีสอนจากพระเจ้า ผู้เดียวที่ตัดสินเราได้คือพระเจ้า
ถ้าเตือนแล้ว ตีแล้วยังไม่ฟัง ขบวนการสุดท้าย คือ ตัดออกจากคริสตจักร ให้ไปเผชิญกับมารตามลำพัง
ผู้นั้นจะถูกตัดพร ตัดการคุ้มครอง ตัดการปกป้องจากสวรรค์
ก่อนที่เปาโล จะทำอย่างนั้นกับคริสตจักรของพระองค์ ท่านต้องถามก่อน เตือนก่อนว่าจะเชื่อฟังหรือไม่
เปาโล สร้างวินัยให้เกิดขึ้นในคริสตจักรของพระองค์
ก. วินัย คือ ความงดงามและความมั่นคงของชีวิต
สภษ.4:13 จงยึดวินัยไว้ และอย่าปล่อยไป จงระแวดระวังเธอไว้ เพราะเธอเป็นชีวิตของเจ้า
คนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีวินัย ประเทศไทยจึงไม่ค่อยเจริญ แต่ประเทศใดหรือใครที่มีวินัย ทำงานกับคนไทยเจริญทุกคน
คริสเตียนไทยก็เช่นกันส่วนใหญ่ขาดวินัย ขี้สะดุด ขาดโบสถ์ คริสตจักรไทยจึงไม่ได้เจริญเติบโตเท่าที่ควร
พระวจนะสอนให้เรายึดวินัยไว้ เพราะวินัยจะสร้างชีวิตของเรา วินัยนั้น แม้สร้างยากแต่ก็ต้องทำ
ใครสร้างชีวิตให้มีวินัย ก็เท่ากับสร้างความงดงามและความมั่นคงให้กับชีวิต
คำเทศนา อาทิตย์ที่ 4 ก.ค. 10 (รอบเช้า) -6- โดย ศจ.นิรุทธิ์ จันทร์ก้อน
ข. เปาโลสอนวิถีแห่งปัญญา
คส.1:28 พระองค์นั้นแหละเราประกาศอยู่ โดยเตือนสติทุกคนและสั่งสอนทุกคนให้มีสติปัญญาทุกอย่าง เพื่อจะได้ถวายทุกคนให้เป็นผู้ใหญ่แล้วในพระคริสต์
เปาโล เตือนสติและสั่งสอนทุกคน ไม่มีเว้น เพื่อให้พวกเขาเติบโตขึ้นโดยมีสติปัญญาทุกอย่าง
3.7 สอนให้ทุกคนทำตามสิ่งที่ท่านทำ เพราะมั่นใจว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง
เปาโล กำชับให้คริสตจักรและคริสเตียน ทำตามอย่างท่านทำ ทำตามอย่างที่ท่านเชื่อ ทำตามอย่างที่ท่านพูด
และทำตามอย่างที่ท่านปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นความเสียสละ ความอ่อนสุภาพ หรือความมุ่งมั่นในการทำงานรับใช้พระเจ้า
เพราะนั่นเป็นแนวทางที่ถูกต้องจากพระเจ้า ใคร ผู้ใด นำไปปฏิบัติ ก็จะสร้างความเจริญให้กับชีวิตของผู้นั้นเอง
1คร.4:16 เหตุฉะนั้นข้าพเจ้าจึงขอให้ท่านทำตามอย่างข้าพเจ้า
ฟป.1:21 เพราะว่าสำหรับข้าพเจ้านั้น การมีชีวิตอยู่ก็เพื่อพระคริสต์ และการตายก็ได้กำไร
ฟป.4:9 จงกระทำทุกสิ่งที่ท่านได้เรียนรู้และได้รับไว้ ได้ยิน และได้เห็นในข้าพเจ้าแล้ว และพระเจ้าแห่งสันติสุขจะทรงสถิตกับท่าน
4. คริสตจักรควรมีท่าทีอย่างไรต่ออัครทูตของพระเจ้า
1คร.4:21 ท่านจะเอาอย่างไรจะให้ข้าพเจ้าถือไม้เรียวมาหาท่านหรือจะให้ข้าพเจ้ามาด้วยความรักและด้วยใจอ่อนสุภาพ
พันธกิจของอัครทูตมีมากมายมหาศาล เราเห็นแล้วว่าเป็นงานที่หนักมาก ไม่ใช่แค่ชั่วคราว แต่ต้องทำทั้งชีวิต
ทางโลกนั้น นานๆ ครั้งจึงจะมีคนอย่างมหาตมะ คานธี หรืออับราฮัม ลินคอล์น
ทางคริสตจักรก็เช่นกัน อัครทูตไม่ได้มีมาบ่อยๆ ไม่ใช่ทุกคริสตจักรจะมีอัครทูต
คริสตจักรใดที่มีอัครทูต ประชากรของพระเจ้าจึงควรมีท่าทีที่ถูกต้อง
เพื่อพระเจ้าจะไม่ต้องมาหาเราด้วยไม้เรียว หากเราปฏิบัติต่ออัครทูตอย่างไม่ถูกต้อง
แต่ให้พระเจ้ามาหาเราด้วยความชื่นชม เพราะเราได้ปฏิบัติต่อผู้แทนของพระองค์อย่างถูกต้อง เหมาะสม
ท่าทีที่ถูกต้องเหมาะสมต่ออัครทูต คือ
4.1 อยู่ในโอวาท อยู่ในคำสอนของอัครทูต
สำหรับอัครทูตและผู้รับใช้ของพระองค์ ไม่มีอะไรที่จะสุขใจไปมากกว่าการเห็นคนของพระเจ้าทำตามคำสอนของพระองค์
เราต้องอยู่ในโอวาท และอยู่ในคำสอนของอัครทูต เพื่อชีวิตของเราจะเติบโตขึ้นและน้ำพระทัยของพระเจ้าจะสำเร็จในเรา
การอยู่ในโอวาทและคำสอนนั้น ด้วยตระหนักว่าอัครทูตต้องเสนอรายงานต่อพระเจ้าและเป็นผู้อารักขาชีวิตของผู้เชื่อ
ฮบ.13:17 ท่านทั้งหลายจงเชื่อฟังและยอมอยู่ในโอวาทของหัวหน้าของท่าน จงให้เขาทำงานนี้ด้วยความชื่นใจ ไม่ใช่ด้วยความเศร้าใจ ซึ่งจะไม่เป็นประโยชน์อะไรแก่ท่านทั้งหลายเลย เพราะว่าท่านเหล่านั้นดูแลรักษาจิตวิญญาณของท่านอยู่ เสมือนหนึ่งผู้ที่จะต้องเสนอรายงาน
4.2 รักและนับถืออัครทูต
1ธส.5:12-13 พี่น้องทั้งหลาย เราขอวิงวอนท่านให้นับถือคนที่ทำงานอยู่ในพวกท่าน ซึ่งปกครองท่านในองค์พระผู้เป็นเจ้า และตักเตือนท่าน จงเคารพและรักเขาให้มากเพราะงานที่เขาได้กระทำ จงอยู่อย่างสงบสุขด้วยกัน
อัครทูตไม่ได้ขอ ไม่ได้หวัง ไม่ได้เรียกร้องหรือแสวงหา แต่พระเจ้าทรงสั่งให้คนของพระองค์ต้องรักและนับถืออัครทูต
เปาโล เขียนพระวจนะตอนนี้ เพื่อสั่งคริสตจักรเมืองเธสะโลนิกา
รักและนับถืออัครทูต เพราะงานที่ท่านทำ ไม่ใช่เพราะท่านทำถูกใจเรา
การขัดคำสั่งของพระเจ้าไม่ได้ส่งผลดีต่อเราประการใดเลย ตรงกันข้ามกลับขัดขวางพระพรที่จะมาถึงเราด้วย
4.3 ให้เกียรติ ต้อนรับ ดูแลอัครทูต เหมือนให้เกียรติพระเจ้า
พระเจ้าสอนให้เราให้เกียรติ ต้อนรับและดูแลอัครทูต เหมือนที่เราทำกับพระเจ้า
คำเทศนา อาทิตย์ที่ 4 ก.ค. 10 (รอบเช้า) -7- โดย ศจ.นิรุทธิ์ จันทร์ก้อน
เพราะอัครทูตหรือผู้รับใช้ เป็นตัวแทนของพระเจ้า เราทำอย่างไรกับอัครทูตและผู้รับใช้เท่ากับเราทำอย่างนั้นกับพระเจ้า
ตัวอย่างทางโลกที่ชัดเจน คือ เอกอัครราชทูตของประเทศต่างๆ เราก็ต้องให้เกียรติท่านอย่างเหมาะสม
เพราะเป็นตัวแทนของประเทศนั้นๆ ทำอย่างไรกับทูตเท่ากับทำอย่างนั้นกับประเทศของเขา
มธ.10:11-15 เมื่อท่านมาถึงนครใดหรือหมู่บ้านใด จงสืบดูว่าใครเป็นคนเหมาะสมในที่นั้น แล้วจงไปอาศัยกับผู้นั้น จนกว่าจะจากไป ขณะเมื่อขึ้นเรือน จงให้พรแก่ครัวเรือนนั้น ถ้าครัวเรือนนั้นสมควรรับพร ก็ให้สันติสุขของท่านอยู่กับเรือนนั้น แต่ถ้าครัวเรือนนั้นไม่สมควรรับพร ก็ให้สันติสุขนั้นกลับคืนมาสู่ท่านอีก ถ้าผู้ใดไม่ต้อนรับท่านทั้งหลายและไม่ฟังคำของท่าน เมื่อจะออกจากเรือนนั้นเมืองนั้น จงสะบัดผงคลีที่ติดเท้าของท่านออกเสีย เพื่อแสดงว่าท่านไม่รับผิดชอบต่อไป เราบอกความจริงแก่ท่านว่า ในวันพิพากษานั้น โทษของเมืองโสโดม และเมืองโกโมราห์จะเบากว่าโทษของเมืองนั้น
พระวจนะตอนนี้ ทำให้เราเห็นว่าอัครทูตหรือผู้รับใช้พระเจ้า สามารถให้คุณและให้โทษกับคนของพระเจ้าได้
ให้เกียรติ ต้อนรับ ดูแลก็จะได้รับพระพร แต่ถ้าทำในทางตรงกันข้ามก็จะรับภัย
และไม่ใช่ภัยธรรมดา แต่พระเจ้าตรัสว่ารับภัยหนักยิ่งกว่าเมืองโสโดมและเมืองโกโมราห์ที่เต็มด้วยความบาปเสียอีก
ตัวอย่างที่จับต้องมองเห็นในโลกนี้มีมากมาย ผู้ที่ทำร้ายและทำลายผู้รับใช้ รับภัยพิบัติกันทุกคน
ไม่ใช่เพราะผู้รับใช้เป็นผู้วิเศษ แต่เพราะกว่าพระเจ้าจะได้ผู้รับใช้แต่ละคน ต้องใช้เวลาและผ่านการสร้างอย่างเข้มข้น
ผู้รับใช้จึงเป็นผู้ที่มีคุณค่ามากสำหรับพระเจ้า และสำหรับคริสตจักรของพระองค์
มธ.10:40-41 ผู้ที่รับท่านทั้งหลายก็รับเรา และผู้ที่รับเราก็รับพระองค์ที่ทรงใช้เรามาผู้ที่รับผู้เผยพระวจนะ เพราะเป็นผู้เผยพระวจนะ ก็จะได้บำเหน็จอย่างที่ผู้เผยพระวจนะพึงได้รับ และผู้ที่รับผู้ชอบธรรมเพราะเป็นผู้ชอบธรรม ก็จะได้บำเหน็จอย่างที่ผู้ชอบธรรมพึงได้รับ
พระเจ้าสอนให้เราให้เกียรติ ไม่ใช่ประจบเอาใจผู้รับใช้ แต่ทำด้วยท่าทีที่ถูกต้องเหมือนทำกับพระเจ้า
เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก หากเราอยากได้พระพร ต้องปฏิบัติต่อผู้รับใช้อย่างสมควร
ที่จริงเรื่องนี้เป็นการสมควรที่อัครทูตจะรับการดูแลอย่างเหมาะสมจากคนของพระเจ้า
เพราะงานที่ทำรับมอบหมายจากพระเจ้านั้นเป็นงานหนักมากและต้องทำตลอดชีวิตจนงานนั้นสำเร็จ
เมื่อพระเจ้าเห็นคุณค่าของอัครทูต จนได้ประทานมาให้กับคริสตจักร คริสตจักรก็ต้องเห็นคุณค่าของอัครทูตเช่นกัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น